วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ดูกันชัดๆ! ด้วยระบบภาพช้า (Challenge System)

World League (รายการแข่งขันของผู้ชายเทียบคล้ายๆกับ World Grand Prix ของผู้หญิง) ปีล่าสุดได้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสู่การแข่งขัน ด้วยระบบภาพช้า (Challenge System) ที่จะช่วยการตัดสินเกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น





ถ้าเกิดใครได้ติดตามชม World Grand Prix 2013 รอบสุดท้ายที่ญี่ปุ่น จะพบว่ามีระบบการตัดสินเพิ่มเติมก็คือระบบภาพช้า ซึ่งกล่าวได้ว่ารายการนี้เป็นรายการแรกที่นำมาใช้กับวอลเลย์บอลหญิง สำหรับวอลเลย์บอลชายนั้น เริ่มใช้แมตช์คู่ระหว่างโปแลนด์ และสหรัฐอเมริกาในรายการ World League

สาเหตุเริ่มมาจากการเล่นวอลเลย์บอลทีมชาย ที่เล่นกันดุดัน ตบแรงและเร็ว ปกติแล้วไลน์แมนจะบอกว่าลูกนั้น ออก ลง หรือโดนร่างกายผู้เล่น กรรมการคนที่สองช่วยดู แต่กรรมการคนที่หนึ่งมีสิทธิชี้ขาด อย่างไรก็ตามมีการประท้วงกันบ่อยมาก โดยเฉพาะลูกปลายเส้น หรือลูกทัชที่ไม่เปลี่ยนทิศ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก เห็นได้ว่ากรรมการหนึ่ง World League นี่จะออกแนวดุๆโหดๆอยู่เหมือนกัน เพราะต้องเอานักกีฬาทั้งสองทีมให้อยู่ ในขณะเดียวกัน จำพวกคู่หลักๆอีโก้สูงด้วยกันทั้งคู่ก็ชอบทะเลาะกันหน้าเน็ต ทำเอาแฟนๆวอลเลย์แอบลุ้นว่าได้ดูวอลเลย์บอลโลกแล้วจะได้ดูมวยโลกเป็นของแถมด้วยหรือไม่ ระบบภาพช้าจะช่วยให้เกมตัดสินเกิดความเป็นธรรม และลดแรงกดดันของกรรมการไปได้ด้วย

มาดูกฎของระบบภาพช้ากัน กรณีที่กรรมการตัดสินแล้วทีมเกิดความสงสัย
1. กัปตันของทีมเป็นผู้เดียวที่สามารถร้องขอให้ดูภาพช้าของวิดีโอได้ แต่ต้องกระทำก่อนจะเริ่มต้นคะแนนต่อไป และหลังจบจากการตัดสินของคะแนนนั้นแล้วไม่เกิน 5 วินาที (คือเล่นๆอยู่ เห็นอีกทีมฟาวล์แล้วจะหยุดเล่นทันทีเพื่อดูภาพช้าไม่ได้ ต้องเล่นให้จบก่อนแล้วค่อยร้องขอ)
2. แต่ละทีมสามารถร้องขอได้สองครั้งต่อเซ็ท ถ้าทีมที่ทำการร้องขอเป็นฝ่ายถูกจะไม่เสียสิทธิการร้องขอ แต่ถ้ากรรมการตัดสินถูกแล้วจะโดนตัดไปหนึ่งสิทธิทันที
3. กรรมการคนที่หนึ่ง(ผู้ตัดสินหลัก) จะสามารถเรียกขอดูวิดีโอกี่ครั้งก็ได้
4. สามารถทำการร้องขอจากข้อสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
- ลูกสัมผัสพื้นภายในหรือภายนอกเส้น
- บอลโดนเสาอากาศ
- ร่างกายนักกีฬาสัมผัสกับเสาอากาศหรือเน็ต
- การเหยียบเส้นขณะเสิร์ฟ, เหยียบเส้นสามเมตรจากการกระโดดตบจากแดนหลัง และการยื่นเท้าออกมาเกินแดนตัวเอง
- ตำแหน่งเท้าของลิเบอโร่ขณะรับลูก
กรณีที่ทีมทำการร้องขอในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับที่กล่าวมา กรรมการคนที่หนึ่งมีสิทธิปฏิเสธการร้องขอหรือแม้แต่กล่าวตักเตือนว่าทำให้การแข่งขันช้า กรณีที่กรรมการรับคำร้อง จะทำการเป่านกหวีดและผายมือทั้งสองข้างไปที่โต๊ะผู้ให้คะแนน ในขณะที่ทำการดูวิดีโอ นักกีฬาทั้งสองทีมยังจะต้องยืนอยู่ภายในสนาม
5. กรรมการตัดสินคนที่สองมีหน้าที่ออกจากสนามเพื่อดูภาพช้า และภาพช้านั้นต้องถูกนำขึ้นมอนิเตอร์ให้ทั้งสองทีมและผู้ชมเห็น
6. หลังจากดูแล้ว กรรมการคนที่สองจะส่งสัญญาณให้กรรมการคนที่หนึ่งว่าใครเป็นฝ่ายได้แต้ม
7. กรณีที่ดูภาพช้าแล้วไม่สามารถตัดสินแต้มนั้นได้ คำตัดสินของกรรมการที่หนึ่งถือว่าเป็นอันสิ้นสุด ทีมที่ร้องขอไม่เสียสิทธิ

สำหรับกรณีแรกของการแข่งขันเกิดขึ้นกับแมตช์ของทีมชายรัสเซียและแคนาดา จากลูกเสิร์ฟของ Nikolay Apalikov ซึ่งกรรมการตัดสินว่าออก แต่การร้องขอดูภาพช้าถูกใช้และกลับกลายเป็นฝ่ายรัสเซียได้คะแนนในเกมนั้น รัสเซียเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก กลับมาแพ้อย่างไม่น่าเชื่อให้กับทีมแคนาดา 2-3 เซ็ตในรอบจัดอันดับ ทำให้ได้ที่สองของสายไปเจอกับอิตาลีที่หนึ่งของอีกกลุ่ม ซึ่งรัสเซียก็สามารถเอาชนะทั้งอิตาลีในรอบรองและบราซิลในรอบชิงชนะเลิศ คว้าแชมป์รายการนี้ไปได้ อารมณ์ประมาณ คู่ไทย-คาซัคเลยนะ

เชิญชม



แม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่ระบบนี้ได้รับคำชมที่ค่อนข้างมาก โดย Andrea Zorzi อดีตนักกีฬาทีมอิตาลีในตำนานชื่นชมว่า "ระบบมันง่ายมาก ไม่ใช้เวลานานในการติดตั้ง น่าเชื่อถือและวิธีการตรวจสอบก็รวดเร็ว กรรมการคนที่สองแค่เดินออกไปถามคนที่กำกับกล้องอยู่เท่านั้น"

"ความสนุกของการดูวอลเลย์บอลคือความเป็นไปได้ของทุกคะแนนที่คุณรู้สึกได้ ด้วยระบบนี้เราสามารถกำจัดพื้นที่ของความไม่ชัดเจนออกไปได้"

เรียบเรียงจาก

http://www.fivb.org/EN/ePublications/Volleyworld/2013/English/08/#19/z
http://www.fivb.org/viewPressRelease.asp?No=40897&Language=en

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น