วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไมนักวอลเลย์บอลคิวบาถึงหนีออกนอกประเทศ?


คืนวันหนึ่งนักวอลเลย์บอลชายชาวคิวบา 6 คน ตัดสินใจย่องหนีจากห้องพักโรงแรมเมืองแฟลนด์เดอร์ เบลเยี่ยม ก่อนหน้านั้นพวกเขาเพิ่งได้แชมป์ Grand Champion 2001 ซึ่งเป็นรายการระดับโลกที่นำเอาแชมป์ในแต่ละทวีปมาแข่งกันเพื่อหาสุดยอดแชมป์ พวกเขาตัดสินใจทิ้งชื่อเสียง ครอบครัว บ้านและทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ขึ้นรถไฟมุ่งสู่อิตาลี เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง ถูกประเทศตนเองขึ้นสถานะว่าพวกเขาเป็น "ผู้หลบหนีออกนอกประเทศ" หลังจากนั้นพวกเขาจะไม่สามารถกลับไปเหยียบแผ่นดินคิวบาได้อีกเลย

ตามกฎของ FIVB ผู้หลบหนีเหล่านี้จะถูกสมาคมประเทศของตนเองแบนจากทีมชาติ และ FIVB จะห้ามสโมสรทุกแห่งรับนักกีฬาเหล่านี้เข้าร่วมทีม หรือถ้าร่วมจะถูก FIVB ลงโทษสโมสรนั้นๆ อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านไป 2 ปี สโมสรของลีกต่างๆสามารถเซ็นสัญญากับนักกีฬาเหล่านั้นได้ตามปกติ นี่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะนักกีฬาที่หลบหนีต้องหยุดเล่นในช่วง 2 ปีแล้วอาศัยอยู่ในประเทศอื่นโดยไม่มีรายได้ และการไม่ได้ลงแข่งขันเลยก็มีโอกาสฝีมือตก ซึ่งถือว่าเสี่ยงมาก

Leonal Marshall หนึ่งใน 6 นักกีฬาที่หลบหนี มีอนาคตที่สดใส หลังจากโดนแบนสองปี เขาเข้าร่วมกับทีมสโมสรชั้นนำของอิตาลีและตุรกี คว้าแชมป์รายการต่างๆมามากมายอย่างไรก็ตาม เพื่อนอีก 5 คน ของเขาโชคไม่ดีนัก ยังมีนักกีฬาคิวบาอีกหลายคนที่กำลังมองหาวิธีหลบหนีตามแบบรุ่นพี่กันอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นปัจจุบันนักกีฬาคิวบาจะถูกเฝ้าอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการหลบหนีในกรณีที่ไปเล่นตามยุโรป

ตามรายงานระบุว่า ในปี 1999 รัฐบาลอนุญาตให้นักกีฬาออกไปเล่นต่างประเทศได้ โดยสมาคมจะเป็นฝ่ายเจรจาค่าจ้างเอง แต่หลังจากปี 2005 ทุกอย่างก็จบ เนื่องจากนักกีฬาทีมชาติจะได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 16 เหรียญ (500 กว่าบาท) กรณีที่ได้เหรียญทองจะได้ 300 เหรียญ (9000 บาท) แม้ว่ารัฐบาลคิวบาจะออกค่าสาธารณูปโภคต่างๆให้ เพราะเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ แต่ชีวิตในคิวบาก็คงไม่ได้เจริญสะดวกสบายเท่าประเทศทุนนิยม

รัฐบาลมองว่า นักกีฬาที่ไปเล่นลีกอาชีพ จะไม่เล่นให้กับทีมชาติได้มีประสิทธิภาพเท่า เนื่องจากไม่ได้รับเงินมากพอจึงไม่มีแรงกระตุ้น รวมไปถึงอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการไปเล่นลีกอาชีพ มีข่าวลือมาว่าสมาคมเก็บเงินนายหน้าค่าสัญญาลีกอาชีพที่เซ็นกับนักกีฬาไปถึง 80% แต่ก็เข้าใจได้เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐแจกสวัสดิการทุกอย่างจึงเก็บภาษีเยอะกว่ารัฐทั่วไป ที่แน่นอนคือกฎนี้ทำให้ทีมชาติคิวบาไม่สามารถคว้าเหรียญทองในรายการระดับโลกได้อีกเลยนับแต่ปี 2005 ทั้งทีมชายและหญิง

อะไรคือสิ่งตอบแทนที่พวกเขาหรือเธอจะได้รับ? Osmany Juantorena และ Taimarys Aguero ได้รับเงินค่าจ้างเป็นอันดับต้นๆของลีกอิตาลี แต่นั่นก็ต้องแลกมาอย่างราคาแสนแพง เช่น Aguero ที่ไม่สามารถไปเยี่ยมแม่เธอซึ่งป่วยได้ โชคร้ายที่เธอกำลังเล่นให้กับทีมชาติอิตาลีในรายการโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ปีนั้นอิตาลีจบอยู่อันดับที่ 5 ไม่ใช่ปีที่ดีของเธอเอาซะเลย "มีข่าวบอกมาว่าฉันอาจกลับไปที่คิวบาได้ แต่ไม่นานฉันก็ได้ข่าวว่าแม่ของฉันเสียไปแล้ว ฉันไม่ได้เจอเธอมาตลอด 8 ปี แต่เธอรู้ว่าฉันอยู่ข้างเธอเสมอ ฉันพยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะกลับไป" เธอยังกล่าวอีกว่า "มันเหมือนกับมีช่องว่างกั้นเราไว้เสมอ มันไม่ใช่ความผิดของใคร ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ และถ้ามีโอกาสเราก็ต้องคว้าเอาไว้"



ปีล่าสุดมีนักวอลเลย์บอลคิวบาอย่างน้อยสองคนตัดสินใจหยุดเล่นทีมชาติในขณะที่ตนเองมีผลงานดีที่สุด ข่าวลือว่าพวกเขารับข้อเสนอจากลีกยุโรปไว้แล้ว กฎข้อห้ามนี้ทำให้นักกีฬาเก่งๆหลายคนหยุดเล่นและสโมสรเองต้องทำการปั้นนักกีฬาหน้าใหม่ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา แต่ตราบเท่าที่กฎนี้ยังคงอยู่พวกเค้าก็คงต้องผลัดใบกันต่อไปเรื่อยๆ


เรียบเรียงจาก
http://www.volleywood.net/volleyball-related-news/volleyball-news-north-america/cuban-defectors-a-decade-later/
http://www.volleywood.net/volleyball-related-news/volleyball-news-north-america/the-cuban-drama/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น